วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะทางกายภาพของประเทศไทย

ประเทศไทย

ประเทศไทยมีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร ถ้าเปรียบเทียบขนาดของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดัวยกันแล้ว จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สาม รองจากอินโดนีเซียและพม่า ความยาวของประเทศวัดจาก เหนือสุด ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายไปจดใต้สุดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณ 1,260 กิโลเมตร ส่วนความกว้างมากที่สุด วัดจากด่านพระเจดีย์สามองค์อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีไปจดตะวันออกสุด ที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ยาวประมาณ 780 กิโลเมตร สำหรับส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วัดจากพรมแดนพม่าถึงฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นระยะทางประมาณ 10.5 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ
ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ 4 ประเทศคือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซียรวมความยาวของพรมแดนทางบก ประมาณ 5,300 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลยาว 2,705 กิโลเมตร คือ แนวฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยยาว 1,840 กิโลเมตร และแนวชายฝั่งด้านทะเลอันดามันยาว 865 กิโลเมตร เขตแดนที่ติดต่อกับพม่า เริ่มต้นที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายไปทางตะวันตก และวกลงทางใต้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปสิ้นสุดที่จังหวัดระนอง จังหวัดชายแดนด้านนี้มี 10 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ ระนอง มีทิวเขา 3 แนว เป็นเส้นกั้นพรมแดน ได้แก่ ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี นอกจากนั้นยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ เป็นแนวกั้นพรมแดนอยู่อีกคือแม่น้ำเมย จังหวัดตากและแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนองเขตแดนที่ติดต่อกับลาว เขตแดนด้านนี้ เริ่มต้นที่ในอำเภอเชียงแสน ไปทางตะวันออกและวกลงทางใต้ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเข้าสู่จังหวัดพะเยา ไปสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี ดินแดนที่ติดต่อกับลาวมี 11 จังหวัดคือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนทางน้ำที่สำคัญ ส่วนพรมแดนทางบกมีทิวเขาหลวงพระบางกั้นทางตอนบนและทิวเขาพนมดงรักบางส่วน กั้นเขตแดนตอนล่าง เขตแดนที่ติดต่อกับกัมพูชา เริ่มต้นที่พื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จากอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มาทางทิศตะวันตก แล้ววกลงใต้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด จังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับกัมพูชา มี 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกศ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และ ตราดมีทิวเขาพนมดงรักและทิวเขาบรรทัดเป็นเส้นกั้นพรมแดน เขตแดนที่ติดต่อกับมาเลเซีย ได้แก่ เขตแดนทางใต้สุดของประเทศ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส มีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี และแม่น้ำโก-ลกจังหวัดนราธิวาสเป็นเส้นกั้นพรมแดน

ภาคเหนือ
ภาคเหนือประกอบด้วยพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ 1. เชียงราย 2. แม่ฮ่องสอน 3. พะเยา 4. เชียงใหม่ 5. น่าน 6. ลำพูน 7. ลำปาง 8. แพร่ 9. อุตรดิตถ์

ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวขนานกันในแนวเหนือ-ใต้ และระหว่างเทือเขาเหล่านี้มีที่ราบและมีหุบเขาสลับอยู่ทั่วไปเทือกเขาที่ สำคัญ คือ เทือกเขาหลวงพระบาง เทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาขุนตาลและ เทือกเขาเพชรบูรณ์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคนี้ ได้แก่ ยอดอินทนน์ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงประมาณ 2,595 เมตร เทือกเขาในภาคเหนือเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายยาว 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน แม่น้ำดังกล่าวนี้ไหลผ่านเขตที่ราบหุบเขา พื้นที่ทั้งสองฝั่งลำน้ำจึงมีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้มีผู้คนอพยพไปตั้งหลักแหล่งในบริเวณดังกล่าวหนาแน่นนอกจากนี้ภาคเหนือ ยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ อีกหลายสาย ได้แก่แม่น้ำกก และแม่น้ำอิง ซึ่งไหลลงสู่ แม่น้ำโขง แม่น้ำปาย แม่น้ำเมย และแม่น้ำยวม ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน

ภาคกลาง

ภาคกลางประกอบด้วยพื้นที่ของ 22 จังหวัด ได้แก่ 1. สุโขทัย 2. พิษณุโลก 3. กำแพงเพชร 4. พิจิตร 5. เพชรบูรณ์(ภาคกลางตอนบน) 6. นครสวรรค์ 7. อุทัยธานี 8. ชัยนาท 9. ลพบุรี 10. สิงห์บุรี 11. อ่างทอง 12. สระบุรี 13. สุพรรณบุรี 14. พระนครศรีอยุธยา 15. นครนายก 16. ปทุมธานี 17. นนทบุรี 18. นครปฐม 19. กรุงเทพมหานคร 20. สมุทรปราการ 21. สมุทรสาคร 22. สมุทรสงคราม

ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป เป็นที่ราบดินตะกอนที่ลำน้ำพัดมาทับถม ในบริเวณที่ราบนี้มีภูเขาโดดๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนกระจาย อยู่ทั่วไป ภูมิประเทศตอนบนของภาคกลางเป็นที่ราบลูกฟูก คือเป็นที่สูงๆต่ำๆ และมีภูเขาที่มีแนวต่อเนื่องจากภาคเหนือ เข้ามาถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ส่วนพื้นที่ตอนล่างของภาคกลางนั้นเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เจ้าพระยา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วตอนล่างของภาคกลางยังมีแม่น้ำไหลผ่านอีกหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก เขตนี้เป็นที่ราบกว้างขวางซึ่งเกิดจากดินตะกอน หรือดินเหนียวที่แม่น้ำพัดพามาทับถมเป็นเวลานาน จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก และเป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย ฉะนั้นภาคกลางจึงได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของไทย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยพื้นที่ของ 19 จังหวัด ได้แก่ 1. เลย 2. หนองคาย 3. อุดรธานี 4. สกลนคร 5. นครพนม 6. ขอนแก่น 7. กาฬสินธุ์ 8. มุกดาหาร 9. ชัยภูมิ 10. มหาสารคาม 11. ร้อยเอ็ด 12. ยโสธร 13. นครราชสีมา 14. บุรีรัมย์ 15. สุรินทร์ 16. ศรีสะเกศ 17. อุบลราชธานี 18. อำนาจเจริญ 19. หนองบัวลำภู

ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายจาน ลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้มีขอบเป็นภูเขาสูงทางตะวันตกและทางใต้ขอบทาง ตะวันตก ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็น ส่วนทางใต้ ได้แก่ เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก พื้นที่ด้านตะวันตกเป็นที่ราบสูง เรียกว่า ที่ราบสูงโคราช ภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทราย ที่รู้จักกันดีเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว คือ ภูกระดึง ภูหลวง ในจังหวัดเลย แม่น้ำที่สำคัญของภาคนี้ได้แก่ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากเทือกเขาทางทิศตะวันตก และทางใต้แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้สองฝั่งแม่น้ำเกิดเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นตอนๆ พื้นที่ราบในภาคะวันออกเฉียงเหนือมักมีทะเลสาบรูปแอ่ง* เป็นจำนวนมาก แต่ทะเลสาบเหล่านี้จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้นเมื่อถึงฤดูร้อนน้ำก็จะเหือด แห้งไปหมด เพราะดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ น้ำจึงซึม ผ่านได้เร็ว ภาคนี้จึงมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้พื้นที่บางแห่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อย่างเต็มที่ เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีเนื้อที่ถึงประมาณ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร และศรีสะเกศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยใช้ระบบชลประทานสมัยใหม่ ทำให้สามารถเพาะปลูกได้จนกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่ง หนึ่งของประเทศไทย แต่ก็ปลูกได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น หน้าแล้วสามารถทำการเพาะปลูกได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมบริเวณทั้งหมด

ภาคตะวันตก


ภาคตะวันตก ประกอบด้วยพื้นที่ของ 5 จังหวัด ได้แก่ 1. ตาก 2. กาญจนบุรี 3. ราชบุรี 4. เพชรบุรี 5. ประจวบคีรีขันธ์
ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง ได้แก่ เทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวภูเขาที่ซับซ้อนมีที่ราบแคบๆ ในเขตหุบเขาเป็นแห่ง ๆ และมีที่ราบเชิงเขาต่อเนื่องกับที่ราบภาคกลางเทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่ง กำเนิดของ แม่น้ำแควน้อย (แม่น้ำไทรโยค) และแม่น้ำแควใหญ่ (ศรีสวัสดิ์) ซึ่งไหลมาบรรจบกัน เป็นแม่น้ำแม่กลองระหว่างแนวเขามีช่องทางติดต่อกับพม่าได้ ที่สำคัญคือ ด่านแม่ละเมาในจังหวัดตาก และด่านพระเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี

ภาคตะวันออก

ภาคตะวันออก ประกอบด้วยพื้นที่ของ 7 จังหวัดได้แก่ 1. ปราจีนบุรี 2. ฉะเชิงเทรา 3. ชลบุรี 4. ระยอง 5. จันทบุรี 6. ตราด 7. สระแก้ว
ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป คือมีที่ราบใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของภาค มีเทือกเขาจันทบุรีอยู่ทางตอนกลางของภาคมีเมือกเขาบรรทัดอยู่ทางตะวันออก เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และมีที่ราบชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ระหว่างเทือกเขาจันทบุรีกับอ่าวไทย ถึงแม้จะเป็นราบแคบ ๆ แต่ก็เป็นพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกไม้ผล ในภาคนี้มีจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ไม่มีอาณาเขตจด ทะเล นอกนั้นทุกจังหวัดล้วนมีทางออกทะเลทั้งสิ้น ชายฝั่งทะเลของภาคนี้ เริ่มจากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราไปถึงแหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด ยาวประมาณ 505 กิโลเมตร เขตพื้นที่ชายฝั่งของภาคนี้มีแหลมและอ่าวอยู่เป็นจำนวนมากและมีเกาะใหญ่น้อย เรียงรายอยู่ไม่ห่างจากฝั่งนัก เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะสีชัง เกาะล้านเป็นต้น

ภาคใต้

ภาคใต้ประกอบด้วยพื้นที่ของ 14 จังหวัดได้แก่ 1. ชุมพร 2. สุราษฎร์ธานี 3. นครศรีธรรมราช 4. พัทลุง 5. สงขลา 6. ปัตตานี 7. ยะลา 8. นราธิวาส 9. ระนอง 10. พังงา 11.กระบี่ 12. ภูเก็ต 13. ตรัง 14. สตูล
ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป เป็นคาบสมุทรยื่นไปในทะเล ทางตะวันตกของคาบสมุทรมีเทือกเขาภูเก็ตทอดตัวเลียบชายฝั่งไปจนถึงเกาะภูเก็ต ตอนกลางของภาคมีเทือกเขานครศรีธรรมราช ส่วนทางตอนใต้สุดของภาคใต้มีเทือกเขาสันกาลาคีรี วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก และเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างไทยกับมาเลเซียด้วยพื้นที่ทางชายฝั่งตะวัน ออกมีที่ราบมากกว่าชายฝั่งตะวันตก ได้แก่ ที่ราบในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้มีชาดหาดเหมาะสำหรับเป็นที่ตากอากาศหลาย แห่ง เช่น หาดสมิหลา จังหวัดสงขลาและหาดนราทัศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น เกาะที่สำคัญทางด้านนี้ ได้แก่ เกาะสมุยและเกาะพงัน ส่วนชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย มีเกาะที่สำคัญคือ เกาะภูเก็ต เกาะตรุเตา เกาะยาวและเกาะลันตานอกจากนี้ ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุงยังมีทะเลสาบเปิด (lagoon) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ทะเลสาบสงขลา มีความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุด ประมาณ 20 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 974 ตารางกิโลเมตร ส่วนเหนือสุดของทะเลสาบเป็นแหล่งน้ำจืดเรียกว่า ทะเลน้อย แต่ทางส่วนล่างน้ำของทะเลสาบจะเค็ม เพราะมีน่านน้ำติดกับอ่าวไทย น้ำทะเลจึงไหลเข้ามาได้ ในทะเลสาบสงขลามีเกาะอยู่หลายเกาะ บางเกาะเป็นที่ทำรังของนกนางแอ่น บางเกาะเป็นที่อยู่ของเต่าทะเลนอกจากนี้ในทะเลสาบยังมี ปลา และกุ้งชุกชุมอีกด้วยส่วนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้มีลักษณะเว้าแหว่ง มากกว่าด้านตะวันออก ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงามหลายแห่ง เช่น หาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ หมู่เกาะซิมิลัน จังหวัดพังงา ชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้จึงเป็น

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ แม่น้ำในภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเล ที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำโก-ลกซึ่งกั้นพรมแดนไทยกับมาเลเซียในจังหวัดนราธิวาส แม่น้ำ กระบุรีซึ่งกั้นพรมแดนไทยกับพม่าในเขตจังหวัดระนอง แม่น้ำตาปีในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และแม่น้ำปัตตานีในจังหวัดยะลาและปัตตานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น